ตะกร้าสินค้า - Cart

MEDIA CENTER

NEWSROOM

แบ่งบันข้อมูลได้ที่ :

ยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนอย่างยั่งยืนของ “เทพผดุงพรมะพร้าว” - มุ่งสู่ภารกิจ Net-zero Emissions

 

 

    เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ได้มีการประชุมครั้งสำคัญคือการประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติครั้งที่ 26 หรือ COP26 ซึ่งผู้นำกว่า 196 ประเทศทั่วโลกต่างเข้าร่วมประชุม เพื่อหารือถึงแนวทางที่แต่ละประเทศจะใช้ดำเนินการจัดการปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate change) หนึ่งในวิกฤติสำคัญที่มวลมนุษยชาติกำลังเผชิญ โดยมีจุดมุ่งหมายเดียวกันคือร่วมหาทางป้องกันไม่ให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้นเกินกว่า 1.5 - 2 องศาเซลเซียส ด้วยการลดการแพร่กระจายก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทั่วโลกให้ได้ 45% ภายในพ.ศ. 2573 และลดจนเหลือ 0 ภายในพ.ศ. 2593

    ไม่ได้มีเพียงภาครัฐเท่านั้นที่เห็นความสำคัญอย่างเร่งด่วนของประเด็นดังกล่าว หลายบริษัทชั้นนำในอุตสาหกรรมต่างๆ ทั่วโลกต่างก็ได้ตั้งเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและคาร์บอนลงอย่างจริงจัง โดยมุ่งเน้นที่ความยั่งยืนของธุรกิจที่ครอบคลุมถึงการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม (Environment) และ สังคม (Social) อีกด้วย

    บริษัท เทพผดุงพรมะพร้าว จำกัด (TCC) ในฐานะผู้นำอุตสาหกรรมมะพร้าวที่ขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญและยั่งยืนมากว่า 40 ปี มีความเชื่อมั่นอย่างยิ่งในความรับผิดชอบของตน ต่อการร่วมแก้วิกฤติปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และได้ริเริ่มโครงการและมาตรการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาดังกล่าว ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ในทุกมิติของผลิตภัณฑ์ตั้งแต่แพคเกจจิ้งที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การจัดการดูแลโรงงานทั้งภายในและภายนอก จนถึงการสนับสนุนเกษตรกรในแต่ละท้องถิ่น เพื่อมุ่งลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือ Net-zero Emissions ให้ได้มากที่สุด

    ต้นน้ำแรกที่มุ่งมั่น คือการ “ออกแบบกระป๋องบรรจุภัณฑ์ในรูปแบบ Golf Ball” ซึ่งมีจุดเด่นสำคัญคือ สามารถช่วยลดการใช้โลหะให้น้อยลงในการผลิต โดย คุณอภิศักดิ์ เทพผดุงพร กรรมการผู้จัดการ บริษัท เทพผดุงพรมะพร้าว จำกัด เปิดเผยว่า กระป๋องรูปแบบใหม่ ถูกออกแบบให้ตัวกระป๋องมีลักษณะคล้ายผิวของลูกกอล์ฟ และได้จดสิทธิบัตรในชื่อ “Golf Ball” ซึ่งนอกจากจะช่วยลดปริมาณการใช้โลหะอลูมิเนียมในการผลิต เพราะมีการใช้ความหนาที่ลดลงราว 10% ต่อกระป๋อง แต่ยังคงความแข็งแรง รูปลักษณ์สวยงาม และควบคุมความสดใหม่ของผลิตภัณฑ์ไว้ได้อย่างครบถ้วน ที่สำคัญยังสามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 10% นั่นหมายความว่า เมื่อบริษัท เทพผดุงพรมะพร้าว จำกัด เปลี่ยนมาใช้กระป๋องบรรจุภัณฑ์รูปแบบใหม่ 1,000,000 กระป๋อง จะเท่ากับการดูดซับกาซคาร์บอนไดออกไซด์และการกักเก็บคาร์บอนของต้นไม้ 2,002 ต้นที่ปลูกในระยะเวลา 10 ปี ปัจจุบันผลิตภัณฑ์กะทิชาวเกาะซึ่งบรรจุในกระป๋องรูปแบบใหม่นี้ ได้รับความนิยมอย่างมากในตลาดอเมริกา และอีกหลายประเทศในภูมิภาคยุโรป และคาดว่าจะได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นจากภูมิภาคอื่นๆ ในอนาคต โดยในปีหน้ายังมีแผนต่อเนื่องที่จะลดปริมาณการใช้โลหะลงอีกให้ได้ถึง 14% ซึ่งจะทำให้สามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนได้ออกไซด์ได้อีก 14%

    จากต้นน้ำสู่สายน้ำของ “เครื่องหมายคาร์บอนฟุตพริ้นท์ (Carbon Footprint)”  ที่บริษัท เทพผดุงพรมะพร้าว จำกัด มุ่งมั่นทำมาอย่างต่อเนื่อง โดยเป็นส่วนหนึ่งของนโยบาย  Greenhouse Gas  Management ของบริษัท ซึ่งเครื่องหมายคาร์บอนฟุตพริ้นท์ที่ติดบนผลิตภัณฑ์ต่างๆกว่า 69 ผลิตภัณฑ์ของบริษัทนั้น จะทำให้ผู้บริโภคมั่นใจจากข้อมูลต่างๆ ได้ว่า ตลอดวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ในมือนั้น ได้มีการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมาปริมาณเท่าไหร่ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างแน่นอน  นอกจากนี้การใช้คาร์บอนฟุตพริ้นท์ยังช่วยสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคในต่างประเทศอีกด้วย

    สายน้ำที่ไหลเนื่องต่อกันมาคือ “กระดาษที่ใช้ทั้งฉลากและกล่องลัง” ซึ่งรับการรับรองจาก FSC (Forest Stewardship Council) และ  ISO 14001 (ด้านสิ่งแวดล้อม) โดยคุณอภิศักดิ์อธิบายว่า เรื่องกระดาษเล็กๆ นี้ มีความสำคัญและยิ่งใหญ่ไม่แพ้ส่วนประกอบอื่นๆ เพราะการเลือกใช้กระดาษที่ได้รับการรับรองจาก FSC (Forest Stewardship Council) นั้นหมายความว่ากระดาษฉลากเล็กๆ หรือแม้แต่กล่องลังใหญ่ๆ ที่มาพร้อมผลิตภัณฑ์ในมือผู้บริโภค ล้วนมีที่มาจากป่าปลูกเชิงพาณิชย์หรือป่าที่มีการจัดการดูแลอย่างถูกต้อง ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม และมีการทดแทนทรัพยากรโดยการปลูกป่าทดแทนไม้ที่ถูกนำมาใช้

    ก่อนจะถึงปลายน้ำ การจัดการดูแลโรงงานทั้งภายในและภายนอก คือสายน้ำอีกสายที่ได้รับความสำคัญเสมอมา ซึ่งคุณอภิศักดิ์เล่าว่าได้มีการจัดตั้งหน่วยงานที่ดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะคือ “ฝ่ายบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมและระบบการจัดการพลังงาน” พร้อมตั้งให้เป็น Zero Waste ตลอดกระบวนการผลิต เช่น การนำเอาเศษกาบ เศษใย ซึ่งเหลือจากการนำเนื้อกะทิและน้ำมะพร้าวไปทำผลิตภัณฑ์ต่างๆ ไปทำเป็นเชื้อเพลิง รวมถึงลมร้อนต่างๆ แทบจะเป็น Zero Waste  ด้วยระบบ Air Preheater ซึ่งมีหลักการทำงานสำคัญคือ การนำก๊าซไอเสียจากการเผาไหม้ในกระบวนการผลิตต่างๆ เข้าสู่ระบบ Electrostatic precipitator (ESP) ที่จะดักจับความร้อนของเขม่าควันและฝุ่น  และลมร้อนที่ถูกดักจับเหล่านี้ก็จะเข้าสู่ระบบ Air Preheater เพื่อแปรเป็นพลังงาน และนำไปเพิ่มคุณภาพและลดการใช้เชื้อเพลิงในการผลิตอีกครั้ง นอกจากนี้ในส่วนของน้ำเสียจากการบำบัด ก็ถูกนำกลับมาใช้ประโยชน์ เพื่อลดความร้อนของเครื่องบำบัดกลิ่นที่อาจเกิดจากการผลิต ซึ่งช่วยลดมลภาวะที่ปล่อยออกจากโรงงานอีกด้วย

    ปลายน้ำสุดท้ายไหลจรดสู่เกษตรกร พาร์ทเนอร์ที่สำคัญยิ่งของบริษัท เทพผดุงพรมะพร้าว จำกัด โดยมีการแจกมะพร้าวพันธุ์เตี้ยให้ชาวสวนไปปลูกในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ ตั้งแต่พ.ศ. 2553 กว่า 300,000 หน่อ ซึ่งนอกจากจะช่วยสร้างรายได้เพิ่มเติมแล้ว ยังเป็นส่วนหนึ่งของการช่วยลดคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศได้อีกด้วย ที่สำคัญ บริษัท เทพผดุงพรมะพร้าว จำกัด ยังเดินหน้าขับเคลื่อนอุตสาหกรรมมะพร้าวให้ครบทุกมิติ ด้วยการยกระดับคุณภาพชีวิตของลิงผ่านทางความร่วมมือจากมูลนิธิเพื่อนสัตว์ป่าแห่งประเทศไทย (WFFT) ซึ่งสัมพันธ์กับการบริจาคมะพร้าวพันธุ์เตี้ยซึ่งสามารถลดการใช้แรงงานลิงในระยะยาวได้

  ทั้งหมดนี้ได้สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของบริษัท เทพผดุงพรมะพร้าว จำกัด ในการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม สร้างความยั่งยืนในทุกมิติ ตลอดจนกระบวนการและมาตรฐานที่มีคุณภาพ เพื่อปัจจุบันและอนาคตของเราทุกคน

Contact Us